คงมีหลายครั้งที่เราตั้งใจจะไปซื้อของอย่างหนึ่งแต่สุดท้ายกลับได้ของอีกอย่างหนึ่งมาแทน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเราได้ถูกดึงดูดโดย Emotional Marketing เข้าให้แล้ว ซึ่ง Emotional Marketing หรือการตลาดทางอารมณ์ เป็นการสื่อสารด้วยอารมณ์ ความรู้สึกของกันและกัน โดยการสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา หากแบรนด์ใดที่สามารถสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาแล้วนำไปวางไว้ในใจของผู้บริโภค จนสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกได้ แบรนด์นั้นจะมีความแข็งแกร่งขึ้นมาทันที เรียกได้ว่าเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภค เป็นกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกที่มุ่งเน้นการเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคและกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก และสร้างความภักดีในยี่ห้อ (Brand Royalty) การตลาดฉบับ Emotional Marketing จึงเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคมาก ซึ่งเทคนิคการใช้กลยุทธ์ตลาดแบบ Emotional Marketing มีวิธีดังนี้
1.หาความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค
สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือการหาความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค เช่น เป็นผู้ได้รับความนับถือ เป็นคนสวยและหล่อ เป็นคนมีเสน่ห์ น่ารักสดใส เป็นต้น การค้นหาข้อมูลในส่วนนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะมันจะเป็นโครงสร้างของกลยุทธ์ Emotional Marketing ทั้งระบบ
2.นำความต้องการที่ได้ไปวางแผน
เมื่อได้ข้อมูลแล้วขั้นต่อมาเราต้องกำหนดทิศทางว่าผลิตภัณฑ์ของเราจะนำความรู้สึกของผู้บริโภคในด้านใดมา และนำมาเขียนแผนการตลาดในรูปแบบของ Emotional Marketing
3.ช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้า
กลยุทธ์ Emotional Marketing แตกต่างจากกลยุทธ์แบบอื่นมากที่สุดตรงที่ผลิตภัณฑ์จะมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองอย่างชัดเจน เพราะผลิตภัณฑ์ทั่วไปมักมุ่งขายคุณสมบัติเป็นหลัก แตกต่างจากการตลาดแบบ Emotional Marketing ที่จะเน้นความรู้สึกเป็นหลัก ในหนึ่งผลิตภัณฑ์ควรมีเอกลักษณ์ได้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น เพราะถ้าเปลี่ยนแปลงรูปแบบบ่อยก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่จดจำ
4.ควรใช้ครีเอทีฟมืออาชีพ
หลังจากสร้างเอกลักษณ์ได้แล้วขั้นต่อมาคือเราจะต้องหาครีเอทีฟหรือเอเจนซี่โฆษณามืออาชีพเข้ามาทำการสร้างสรรค์ผลงานให้เรา ซึ่งประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญของพวกเขาจะช่วยพัฒนาแผนงาน Emotional Marketing ให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้มากกว่าที่เราจะลงมือทำเองทั้งหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะลองศึกษา วิเคราะห์ ในเรื่องนี้ด้วยตัวเองก่อนก็ไม่ผิดแต่อย่างใด
5.นำเสนอผ่านสื่อได้หลากหลาย
ขั้นสุดท้ายคือการนำแคมเปญดังกล่าวออกขายตามสื่อต่างๆ เพื่อกระจายไปสู่ผู้บริโภค และให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคเร็วยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้การสร้างสรรค์ผ่านสื่อต่างๆ ควรมีรูปแบบแคมเปญเดียวกันตามเอกลักษณ์ที่ได้กำหนดมา เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนลักษณะให้แตกต่างกันออกไปตามสื่อนั้นๆ
อารมณ์ความรู้สึกเป็นหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่มีอำนาจต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคมากกว่าเหตุผล Emotional Marketing จึงเป็นคำตอบที่เราจะใช้กลยุทธ์นี้เพื่อมัดใจผู้บริโภค เมื่อไหร่ที่เราสามารถสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาให้อยู่ในใจผู้บริโภคได้ ทำให้คนรับรู้และศรัทราในเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เราได้แล้ว เมื่อคนเรามีความเชื่อและศรัทราในสิ่งนั้นแล้ว ความจงรักภักดีกับสิ่งๆ นั้นก็จะตามมาเอง