Design ที่ดูดี และสวยงาม ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง งานออกแบบมากมายหลายชนิดที่ออกมานั้น ในบางครั้งเราก็ไม่อาจบอกได้ว่า งานชิ้นนั้น ๆ ออกมาดีหรือไม่ อย่างไร บางครั้งก็เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก เพราะงานออกแบบแต่ละอย่างนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทักษะ ประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ
เรียกได้ว่าค่อนข้างยากที่จะจำกัดความว่างานแบบไหนเรียกว่าดูดี ดังนั้นเราจึงมีจุดสำคัญที่งานออกแบบที่ดี สมควรมีไว้ มาดูกันเลยค่ะ ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง
- จุดโฟกัส จุดนี้คือส่วนที่เด่นชัดที่สุดในภาพ ดังนั้นย่อมเป็นสิ่งแรกที่ผู้คนจะมองเห็นเมื่อพบกับงานออกแบบชิ้นนั้น ๆ ดังนั้นนักออกแบบส่วนใหญ่จึงใส่ส่วนที่สำคัญที่สุดเอาไว้ที่จุดโฟกัส แต่ในงานออกแบบซึ่งมีไอเดียและแนวคิดที่หลากหลาย เราไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าจุดโฟกัสที่ดีจะต้องเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่ง่ายที่สุด ในการจะทราบว่าจุดโฟกัสนั้นอยู่ตรงไหน คือส่วนที่กระทบสายตาเราเป็นสิ่งแรกเมื่อมองเข้าไปนั่นเอง ดังนั้นการเลือกใช้สี ขนาด หรือแม้แต่การจัดวาง ก็สามารถสร้างจุดโฟกัสให้ดูโดดเด่นออกมาได้
- ความต่อเนื่อง หมายถึงความลื่นไหลลงตัวในส่วนของกราฟิกหรือข้อความต่าง ๆ ที่เราใส่ลงไป เมื่อไล่สายตาออกจากจุดโฟกัส ส่วนต่าง ๆ ที่เหลือก็ต้องมีความลื่นไหลสอดคล้องกันเป็นลำดับขั้น มีการแบ่งสัดส่วนหรือการเว้นช่องว่างอย่าเหมาะสมลงตัว เพื่อให้การสื่อสารเกิดความสับสนหรือคลาดเคลื่อน
- ความสมดุล ในที่นี้หมายถึงความสมมาตรของวัตถุ ด้านซ้ายด้านขวา หรือด้านบนด้านล่าง ควรที่จะมีความสมดุลกัน ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง
- การใช้ font หรือที่เรียกว่า typeface ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง งานออกแบบไม่ได้เลือกใช้ font แบบเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นการเลือกชนิดและขนาดของ font ก็ควรที่จะมีความกลมกลืนและเข้ากันได้ดี
- ตัวหนังสือมีความอ่านง่าย นอกจากจะเลือกใช้ font ที่มีความสวยงามแล้ว จะต้องอ่านออกได้โดยง่ายด้วย อีกทั้งส่วนไหนที่เน้นความสำคัญ ก็ให้ใช้ font ที่มีขนาดใหญ่เอาไว้ก่อน นอกจากนี้สีที่ใช้ ก็มีส่วนทำให้อ่านตัวหนังสือได้ง่ายยิ่งขึ้น
- ความลงตัวของทุกองค์ประกอบ การออกแบบที่ดี ควรมีความลงตัวทั้งในด้านการออกแบบและการสื่อสาร ไม่ควรเน้นไปที่กราฟิกหรือจัดวางโดยดูแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว ควรคำนึงถึงเนื้อหาที่จะต้องการสื่อสารด้วย ดังนั้นจึงควรมีการออกแบบให้ทั้งเนื้อหาและกราฟิกมีความกลมกลืนสัมพันธ์กัน
- ความตัดกัน (Contrast) การตัดกันของพวกเส้นสีและองค์ประกอบต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ คล้าย ๆ กับความคมชัดของพวกภาพถ่ายนั่นเอง แต่ในทางกราฟิก จะใช้การตัดกันเพื่อช่วยขับเน้นในสิ่งที่ต้องการสื่อสารให้ดูเด่นชัดออกมา
- การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่าง เราคงพอเคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่อง space มากันบ้าง พื้นที่ว่างเหล่านี้ จะทำหน้าที่เป็นเวที เพื่อช่วยส่งเสริมให้สิ่งที่ต้องการจะสื่อสารดูโดดเด่นออกมา ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางให้วัตถุอยู่ใกล้กันเพื่อให้เกิดช่องว่าง หรือการใช้พื้นที่สีขาว เพื่อให้วัตถุมีวามโดดเด่นได้อย่างเต็มที่
- อารมณ์ของภาพ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Mood & Tone จะต้องสื่อออกมาดูกลมกลืนไปในแนวทางเดียวกับสิ่ที่ต้องการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กราฟิก รูปภาพ ภาพถ่าย สี ตัวหนังสือ จะต้องคุมให้อยู่ในโทนหรืออารมณ์เดียวกัน
- การเลือกใช้โทนสี ในการเลือกใช้สีนี้ ในบางครั้งเป็นเรื่องของรสนิยม แต่ในปัจจุบันมีตัวช่วยในการเลือกใช้สีอยู่อย่างมากมาย นักออกแบบจึงควรเลือกนำตัวช่วยเหล่านี้มาใช้ เพื่อคุมโทนการใช้สีให้ออกมาดูดีที่สุด
- ความตอบโจทย์ ต้องตรวจสอบดูว่างานที่ออกแบบมาแล้วนั้น เมื่อดูแล้วตรงตามความต้องการ หรือตามวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอหรือไม่ ดังนั้นจึงควรลองถามคนอื่น ๆ ด้วยว่า เข้าใจในงานออกแบบของเราตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่
- คุณภาพ หรือความละเอียดของผลงาน ควรเริ่มต้นทำงานโดยใช้ไฟล์ที่มีความละเอียดสูงเพียงพอต่อการนำไปใช้ในรูปแบบอื่น ๆ ได้โดยไม่เกิดปัญหาคุณภาพของไฟล์ในภายหลัง
จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงจุดหลัก ๆ เพื่อให้เราได้สังเกตว่า งานที่ได้ออกแบบมานั้นดูดีมากน้อยเพียงไร แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องยึดเอาเป็นหลักสำคัญตายตัว เพราะในงานออกแบบนั้นล้วนเต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มากมาย องค์ประกอบเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางที่ช่วยให้นักออกแบบสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาดูดีตามที่สมควรจะเป็นนั่นเองค่ะ
เรียบเรียงโดย :Naviya