5 ทักษะพื้นฐาน ที่ Graphic Designer ที่ควรมีติดตัวเอาไว้ การเป็นนักออกแบบที่ดีนั้น ทักษะและความคิดสร้างสรรค์ล้วนแต่เป็นสิ่งจำเป็น การมีทักษะเยอะ ๆ ทำให้เรามีความสามารถที่หลากหลาย สามารถตอบสนองต่อความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการได้เป็นอย่างดี แต่ในบางครั้ง การที่จะใช้ทักษะต่าง ๆ อาจถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย ส่งผลให้เราใช้เครื่องมือนั้น ๆ ได้ไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นทักษะพื้นฐานเดิม ๆ ง่าย ๆ ที่สามารถดึงมาใช้ได้ทั่วไป อาจช่วยทำให้เราทำงานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายได้เป็นอย่างดีก็เป็นได้ เรามาดูกันว่าทักษะต่าง ๆ เหล่านี้กันค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง
- การทำไดคัท (Die-Cut) แน่นอนว่าการทำไดคัท สำหรับ Graphic Designer นั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากแต่ในบางครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน หากรูปที่ได้มีคุณภาพต่ำ ฉากหลังรก หรือวัตถุมีความละเอียดซับซ้อน เช่นเส้นผม ขนสัตว์ หรือต้นไม้ที่มีใบเยอะแยะมากมาย งานไดคัทที่ดีจะสังเกตได้จากเส้นขอบ หากผู้ทักษะนี้มีความชำนาญ เส้นขอบจะมีความเป็นธรรมชาติกลมกลืน มีความชัด ความฟุ้งที่ลงตัวและดูดี
- การใช้ Pen Tool เครื่องมือตัวนี้คือที่สุดแห่งการตอบสนองด้านความคิดสร้างสรรค์และจิตนาการ การวาดคือจุดเริ่มต้นของการออกแบบ เราสามารถใช้เครื่องมือนี้ เนรมิตสิ่งที่ต้องการออกมาได้ หากมีทักษะที่เยี่ยมยอดด้วยแล้ว แน่นอนว่ามันจะทำให้งานของคุณออกมาได้ดีดั่งใจคิดเลยเชียวล่ะ
- เครื่องมือ Blend Mode ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือลับในการสร้างสรรค์งานได้เลยทีเดียว เครื่องมือนี้จะทำการกำหนดให้ layer เกิดการโปร่งใสเมื่อค่าสีใดสีหนึ่งมาเจอกับอีกค่าสีหนึ่ง ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนกันทั้งในโปรแกรม Illustrator หรือ Photoshop หากเราทดลองลองนำมาใช้ซ้อนทับกันไปมาเรื่อย ๆ ดู เราอาจจะพบผลลัพธ์ที่ออกมาดีอย่างไม่น่าเชื่อ เครื่องมือนี้มีมากมายหลายโหมดด้วยกัน ยกตัวอย่างที่นิยมใช้กันก็คือ Multiply, Overlay, Screen และ Soft light เป็นต้น
- การดู Color taste ว่ากันง่าย ๆก็คือรสนิยมในการเลือกใช้สีของเรานั่นเองค่ะ หากเราต้องมีการเลือกใช้สีมากกว่าหนึ่งสีขึ้นไป มักจะสร้างปัญหาให้กับบรรดา
Graphic Designer ได้อยู่เสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มมือใหม่ การเลือกใช้สีที่ไม่สมดุลกัน ความเข้ม ความสด ความต่างกันของโทนสีที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้งานออกมาดูไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ทักษะนี้พัฒนาได้ไม่ยากค่ะ หมั่นศึกษางานสวย ๆ ที่ทำออกมาว่าเลือกใช้โทนสีแบบไหน ตรงไหนควรเข้ม ตรงไหนควรจาง เลือกใช้คู่สีอย่างไร สมดุลสีเป็นแบบไหน หมั่นศึกษาให้เยอะ ๆ แล้วเราจะเริ่มจดจำจนชินตาไปเองค่ะ นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบันมีโปรแกรมต่าง ๆ เข้ามาเพื่อช่วยเลือกใช้สีให้อีกด้วย หากไม่มั่นใจว่าจะเลือกใช้สีแบบไหนดี ลองใช้โปรแกรมช่วยเหลือเหล่านี้ดูค่ะ งานดี ๆ บางทีก็ดับได้ หากเลือกใช้สีที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง - การเลือกใช้ภาพที่เหมาะสม (Right Images) เช่นเดียวกับการเลือกใช้สี การเลือกภาพที่ดีย่อมส่งผลต่อคุณภาพของงาน แน่นอนว่าภาพที่ดีนั้นโดยทั่วไปแล้วมีต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างช่างภาพ การซื้อภาพจากแหล่ง Stockphoto ต่าง ๆ หรือแม้แต่การถ่ายภาพด้วยตนเอง รวมไปถึงการ download ภาพฟรีจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เทคนิคการเลือกภาพที่ดี ต้องดูที่ขนาดและความละเอียดของภาพ ต้องเหมาะสมกับชิ้นงานของเรา และเป็นภาพที่มีความละเอียดสูง เพื่อง่ายต่อการปรับแต่ง มีความคมชัดของวัตถุที่ต้องการในภาพ และภาพที่เลือกใช้ จะต้องช่วยสื่อสารเรื่องราวที่เราต้องการนำเสนอออกมาได้
เป็นอย่างไรบ้างคะ ทักษะพื้นฐานเหล่านี้ ดูเหมือนจะไม่ยาก แน่นอนว่าใคร ๆ ก็ทำได้ แต่หากเราสามารถใช้งานมันด้วยทักษะที่มีความชำนาญแล้วนั้น ไม่ว่าจะที่ไหน เมื่อไหร่ เราก็จะสามารถใช้งานมันในเพื่อช่วยการออกและแบบสร้างสรรค์ชิ้นงานดี ๆ ออกมาได้อยู่เสมอ หมั่นฝึกฝนและใช้งานอยู่เป็นประจำ มั่นใจได้ว่าทักษะเหล่านี้ จะเป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยในการออกแบบได้เป็นอย่างดีแน่นอนค่ะ
เรียบเรียงโดย :Naviya