ร่างพ.ร.บ.คอมฯ ฉบับล่าสุด ได้ผ่านการพิจารณาจาก สนช. แล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธ.ค. 59 โดยที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติ เห็นด้วย 168 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 5 โดยรอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปใน 120 วัน ซึ่งข้อความทั้งหมดในร่างฯ โดยภาพรวม จะเป็นการแก้ไข/เพิ่มเติม จากพ.ร.บ.คอมฯ ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เน้นไปยังการมุ่งจัดระเบียบสังคมโซเชียล ปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานในปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงปรับบทลงโทษให้มีความชัดเจนและลงรายละเอียดมากยิ่งขึ้น
จากร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับล่าสุดนั้น มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มฐานความผิดและบทลงโทษให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะได้ให้ความเป็นธรรมและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลมากยิ่งขึ้น สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับล่าสุดมีการแก้ไข/เพิ่มเติม จากพ.ร.บ.คอมฯ ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ส่วนจะมีรายละเอียดอะไรบ้างนั้น เรามาดูกันเลยค่ะ
เพิ่มฐานความผิดหมิ่นออนไลน์ ศาลสั่งให้ทำลายข้อมูลได้ เมื่อโพสต์ข้อมูลเท็จที่อาจเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก โดยศาลสั่งให้ทำลายข้อมูลที่ผิดนั้นได้ และคนอื่นที่มีและเซฟข้อมูลนั้นไว้ ก็ต้องทำลายทิ้งด้วย ไม่อย่างนั้นต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของคนโพสต์
มาตรการแจ้งเตือน และระงับการแพร่หลาย ผู้ให้บริการต้องมีมาตรการ ให้ผู้ใช้ช่วยสอดส่อง (ให้ประชาชนรายงานเข้ามา) และต้องระงับข้อมูลนั้นภายใน 3 วัน
ระบบบล็อกเว็บผิดศีลธรรม แบบใหม่ โดยจะบล็อกเว็บที่ถึงจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี ตามดุลยพินิจของกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือกระทรวงคอมพิวเตอร์ก็มีสิทธิโดนบล็อกได้
ผู้ให้บริการต้องเก็บข้อมูลไว้นานขึ้น ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต้องเก็บข้อมูล จราจรคอมพิวเตอร์ไม่เกิน 90 วัน หรือในกรณีที่จำเป็น อาจถูกสั่งให้เก็บได้ไม่เกิน 2 ปี และเจ้าหน้าที่สั่งเก็บข้อมูล ที่เป็นหลักฐานความผิดได้ โดยไม่กำหนดระยะเวลา
ทำพ.ร.บ.คอมให้เป็นประมวลกฎหมายอาญาฉบับออนไลน์ โดยภาพรวมแล้ว การปรับแก้ร่างกฎหมายครั้งนี้ มีความพยายามปรับให้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สามารถครอบคลุมถึงกฎหมายอื่นๆ เช่น การกำหนดอำนาจของเจ้าหน้าที่ที่จะตรวจคอมพิวเตอร์หรือยึดอายัดคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ได้จำกัดความผิดเพราะตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น แต่รวมถึงความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นด้วย (มาตรา 18 และ 19)
จากร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับล่าสุดนั้น จะมุ่งเน้นการจัดระเบียบสังคมโซเชียล โดยสรุปแล้วเมื่อเทียบกับพ.ร.บ.คอมฯ ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แล้วมีเนื้อหาไม่ต่างจากเดิมไปเท่าไหร่ คืออะไรที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีก็สมควรถูกปิดก็โดนปิดไป ซึ่งสุดท้ายก็ต้องจบลงที่ศาลค่ะ ถ้าศาลท่านไม่สั่งปิดก็ไม่ได้ปิดอยู่ดีนั่นเองคะ
โดย..เจ้าน้อย..